รถแทรกเตอร์
รถแทรกเตอร์เป็นเครื่องจักรกลที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดประเภทหนึ่งในงานก่อสร้าง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการดึงและดัน และพอเป็นตัวรถสำหรับตั้งอุปกรณ์ในการทำงานต่าง ๆ เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ตักก็จะทำหน้าที่เป็นรถตัก ติดตั้งใบมีดหน้าก็จะทำหน้าที่เป็นรถดันดิน และติดตั้งแขนยกด้านข้างก็จะทำหน้าที่เป็นรถสำหรับวางท่อ รถแทรกเตอร์ที่มีใช้กันในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบคือ รถแทรกเตอร์ตีนตะขาบ และรถแทรกเตอร์ล้อยาง
รถแทรกเตอร์ตีนตะขาบ
รถแทรกเตอร์ตีนตะขาบก็คือเครื่องจักรกลที่เปลี่ยนกำลังของเครื่องยนต์ให้เป็นกำลังขับเคลื่อน โดยส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปหมุนล้อเฟือง (sprocket) เพื่อไปขับชุดสายพานตีนตะขาบ ให้เคลื่อนที่ไปและทำให้แผ่นตีนตะขาบซึ่งติดอยู่กับสายพานตีนตะขาบตะกุยไปบนพื้น ทำให้ตัวรถเคลื่อนที่ไป
ข้อดีของรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบเมื่อใช้ในงานก่อสร้างก็คือ
1. สามารถใช้กำลังในการขับเคลื่อนได้สูง เนื่องจากจะไม่เกิดการลื่นไถลได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำงานบนพื้นที่ไม่แน่น
2. สามารถทำงานบนพื้นที่เป็นดินและบริเวณที่มีหินแหลมคมได้ เพราะหินแหลมคมจะไม่ทำให้ชุดสายพานตีนตะขาบชำรุดง่าย
3. สามารถทำงานในพื้นที่ขรุขระได้ดี จึงทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการเตรียมพื้นที่ในการทำงาน
4. สามารถทำงานในพื้นที่ลุ่มได้ดี เพราะมีการลอยตัว (floatation) ดีหรือความดันที่กดลงบนพื้น (ground pressure) ตํ่านั่นเอง
ขนาดของรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบนิยมกำหนดด้วยนํ้าหนักของตัวรถและกำลังของเครื่องยนต์ ซึ่งนํ้าหนักของตัวรถจะมีตั้งแต่ขนาดเล็กคือประมาณ 3 ตันจนถึงขนาดใหญ่สุดมีน้ำหนักถึงประมาณ 80 ตัน ส่วนกำลังของเครื่องยนต์จะมีกำลังตั้งแต่ประมาณ 40 แรงม้าจนถึงประมาณ 700 แรงม้า สำหรับสมรรถนะของรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบจะกำหนดโดยแรงฉุดลาก (drawbar pull) ที่รถแทรกเตอร์สามารถทำได้ที่ความเร็วในการเคลื่อนที่ และเมื่อใช้เกียร์ต่าง ๆ ซึ่งนิยม เขียนเป็นกราฟระหว่างแรงฉุดลากกับความเร็วของตัวรถ จะมีเส้นกราฟเท่ากับจำนวนเกียร์ที่มีแรงฉุกลากสูงสุดก็คือแรงฉุดลากเมื่อใช้เกียร์ตํ่าสุดหรือเกียร์ 1 และเมื่อความเร็วของตัวรถตํ่าสุด
ส่วนประกอบที่สำคัญของรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบ
รถแทรกเตอร์ตีนตะขาบโดยทั่วไปจะประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ ๆ คือ
1. เครื่องยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เครึ่องยนต์ดีเซล ยกเว้นรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบขนาด เล็ก ๆ เท่านั้นที่จะใช้เครื่องยนต์เบนซิน
2. อุปกรณ์ที่ใช้ในการขับเคลื่อน จะแบ่งตามแบบของการถ่ายทอดกำลัง ซึ่งที่นิยมใช้กันอยู่มี 3 แบบตามตารางที่ 7.1
3. อุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุม ก็จะแบ่งตามแบบของการถ่ายทอดกำลังซึ่งแบ่งเป็นแบบเช่นกันตามรายละเอียดตารางที่ 7.2
4. โครงของตัวรถ (mainframe) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นฐานของเครื่องยนต์ ห้องเกียร์ และจะเป็นเสื้อของคลัตช์ และเบรกสำหรับการเลี้ยว และชุดขับเคลื่อนท้าย
รูปที่ 7.2 เป็นรูปแสดงรายละเอียดของรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบ ซึ่งมีการถ่ายทอดกำลังแบบ direct drive