เรามักจะได้ยินข่าวการเรียกรถยนต์กลับคืนเสมอทั้งจากค่ายรถญี่ปุ่น ยุโรป หรืออเมริกาก็ตาม เมื่อพบว่ามีข้อบกพร่องบางประการเกิดขึ้นกับรถยนต์แต่ละรุ่น นั่นเป็นเพราะว่าค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ในปัจจุบันต่างได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตว่า ชีวิตมนุษย์ไม่อาจทดแทนได้ด้วยเงิน ซึ่งนับได้ว่าเป็นความรับผิดชอบที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่งแม้จะมีค่าใช้จ่ายในการเรียกรถกลับคืนมาปรับปรุงซ่อมแซมมากมายก็ตาม
ในอดีตมีบทเรียนของผู้บริหารที่ต้องตัดสินใจเลือกต้นทุนโดยคำนึงถึงการเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด แทนที่จะเลือกความปลอดภัยของผู้ใช้รถ เรารู้จักเรื่องนี้กันในชื่อที่เรียกว่า บันทึกของฟอร์ด พินโต (Ford Pinto Memo)
เรื่องนี้เริ่มต้นที่บริษัท ฟอร์ด ได้ผลิตรถยนต์รุ่น pinto ขึ้นในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1970
รถยนต์รุ่นนี้ถูกออกแบบให้มีถังเก็บน้ำมันอยู่ด้านท้ายของตัวรถ ซึ่งหากรถถูกชนท้ายอย่างแรง จะทำให้ถังเก็บเชื้อเพลิงระเบิด
มีหลักฐานว่าบริษัทฟอร์ดทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี จากเอกสารของวิศวกรออกแบบรถที่แนะนำให้ทางบริษัทติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเพิ่มเติม
การป้องกันการระเบิดด้วยการติดตั้งอุปกรณ์เสริมเข้าไป จะทำให้บริษัทฟอร์ดต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นประมาณ $11 ต่อรถ 1 คัน ซึ่งผู้บริหารบริษัทของฟอร์ดมีมติว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป
ประมาณการแล้ว หากบริษัทฟอร์ดตัดสินใจเรียกรถยนต์กลับคืนมาและติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเข้าไป
ฟอร์ดขายรถไปได้ ประมาณ 12.5 ล้านคัน
ต้นทุนในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเพิ่มเข้าไปอยู่ที่ $11 ต่อคัน
บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด $137.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากการคำนวนตัวเลขทางคณิตศาสตร์บริษัทฟอร์ดประมาณว่า หากมีรถยนต์เกิดไฟไหม้ 2100 คัน
มีผู้เสียชีวิตประมาณ 180 คน
มีผู้บาดเจ็บรุนแรงประมาณ 180 คน
ฟอร์ดจะต้องเสียเงินชดเชยให้ผู้เสียชีวิตรายละ $200,000
จ่ายเงินให้ผู้บาดเจ็บรายละ $67,000
และจ่ายเงินค่าซ่อมรถคันละ $700
บริษัทฟอร์ดจะจ่ายเงินเพียงแค่ $49.53 ล้านเหรียญสหรัฐ
ประหยัดกว่าการเรียกคืนรถทั้งหมดกลับมาติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารจึงเลือกที่จะเสียเงินชดเชย แทนที่จะเรียกรถกลับคืนมา
การตัดสินใจของผู้บริหารบริษัทฟอร์ดนับได้ว่าเป็นสิ่งที่เลวร้าย เพราะทั้งที่รู้ว่าไม่ปลอดภัย แต่ก็ยังไม่ดำเนินการแก้ไข ปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้นเพียงเพราะว่าคำนวนแล้วค่าใช้จ่ายถูกกว่า
ขอทิ้งท้ายด้วยวีดีโอการทดสอบการระเบิด เมื่อรถFord รุ่น Pinto โดนชนท้าย